วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2557

บทที่ 18 การจัดตั้งโรงงาน

บทที่ 18 การจัดตั้งโรงงาน      

1. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้แบ่งโรงงานออกเป็น 3 จำพวก คือ
โรงงานจำพวกที่ 1 เป็นโรงงานที่สามารถประกอบกิจการได้ทันทีตามความประสงค์ของผู้ประกอบกิจการ แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงและประกาศกระทรวง
โรงงานจำพวกที่ 2 เป็นโรงงานที่ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเช่นกัน และเมื่อจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อน (ขอรับและยื่นแบบใบแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ได้ที่สำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา)
โรงงานจำพวกที่ 3 เป็นโรงงานที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจึงจะตั้งโรงงานได้ ( ซื้อคำขอฯ ได้ที่กองคลัง ชั้น 1 และยื่นคำขอฯ ที่สำนักงานเลขานุการกรม ชั้น 1 )
2. การตรวจสอบสถานภาพของโรงงานว่าจัดเป็นโรงงานจำพวกใด จะต้องมีข้อมูลชนิดของกิจการ (จะประกอบกิจการอะไรบ้าง) แรงม้าเครื่องจักรรวมและจำนวนคนงานที่ใช้ในโรงงาน เพื่อนำมาจัดจำพวกโรงงาน โดยตรวจสอบด้วยตนเองจากกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 หรือจะสอบถามจากทางราชการได้ที่
2.1 สำนักโรงงานอุตสาหกรรมรายสาขา (ชั้น 2,3 และ 4 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
2.2 สำนักเลขานุการกรม (ชั้น 1 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม)
2.3 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด
3. การชำระค่าธรรมเนียมรายปี ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 และ 3 ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการโรงงาน และต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีต่อไปทุกปีเมื่อถึงวันครบกำหนดวันเริ่มประกอบกิจการโรงงานในปีถัดไป ถ้ามิได้เสียค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนดให้ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละห้าต่อเดือน 
โรงงานในเขตกรุงเทพมหานครชำระค่าธรรมเนียมที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนโรงงานในจังหวัดอื่นๆ ชำระที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่
อัตราค่าธรรมเนียม         
ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535
แรงม้า
ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
ประกอบ/ขยาย/ต่ออายุ (บาท)
ค่าธรรมเนียมการประกอบ
กิจการรายปี (บาท)
ตั้งแต่ 0 แต่ไม่ถึง 5
ตั้งแต่ 5 แต่ไม่ถึง 20
ตั้งแต่ 20 แต่ไม่ถึง 50
ตั้งแต่ 50 แต่ไม่ถึง 100
ตั้งแต่ 100 แต่ไม่ถึง 200
ตั้งแต่ 200 แต่ไม่ถึง 300
ตั้งแต่ 300 แต่ไม่ถึง 400
ตั้งแต่ 400 แต่ไม่ถึง 500
ตั้งแต่ 500 แต่ไม่ถึง 600
ตั้งแต่ 600 แต่ไม่ถึง 700
ตั้งแต่ 700 แต่ไม่ถึง 800
ตั้งแต่ 800 แต่ไม่ถึง 900
ตั้งแต่ 900 แต่ไม่ถึง 1,000
ตั้งแต่ 1,000 แต่ไม่ถึง 2,000
ตั้งแต่ 2,000 แต่ไม่ถึง 3,000
ตั้งแต่ 3,000 แต่ไม่ถึง 4,000
ตั้งแต่ 4,000 แต่ไม่ถึง 5,000
ตั้งแต่ 5,000 แต่ไม่ถึง 6,000
ตั้งแต่ 6,000 ขึ้นไป
500
1,000
1,500
3,000
5,000
7,000
9,000
12,000
15,000
18,000
22,000
26,000
30,000
35,000
40,000
45,000
50,000
55,000
60,000
150
300
450
900
1,500
2,100
2,700
3,600
4,500
5,400
6,600
7,800
9,000
10,500
12,000
13,500
15,000
16,500
18,000
4.การอนุญาตประกอบกิจการโรงงานมีขั้นตอนและระยะเวลาดังนี้
4.1ตรวจสอบทำเลฯและจัดทำรายงานการตรวจสอบภายใน30วัน
4.2การพิจารณาอนุญาตต้องให้แล้วเสร็จภายใน50วัน
4.3การแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายใน10วัน
5.สถานที่ห้ามตั้งโรงงานจำพวกที่1จำพวกที่2และจำพวกที่3
5.1บ้านจัดสรรเพื่อการพักอาศัยอาคารชุดพักอาศัยและบ้านแถวเพื่อการพักอาศัย
5.2ภายในระยะ50เมตรจากเขตติดต่อสาธารณสถานได้แก่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา วัดหรือศาสนสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการของหน่วยงานของรัฐ(ไม่รวมถึงสถานที่ทำการโดยเฉพาะเพื่อการควบคุมกำกับดูแลอำนวยความสะดวกหรือให้บริการแก่การประกอบกิจการของโรงงานแห่งนั้นๆ)และให้หมายความรวมถึงแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด





วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

บทที่ 17 พระราชบัญญัติล้มละลาย

บทที่ 17 พระราชบัญญัติล้มละลาย        

          กฎหมายล้มละลาย เป็นกฎหมายทั้งสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติแขนงหนึ่ง ซี่งบัญญัติถึงกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ตั้งแต่เงื่อนไขการขอให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย วิธีการขอให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลาย การขอให้พิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ ซึ่งมีทั้งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวและพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด การประนอมหนี้ รวมทั้งการขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ซึ่งศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีล้มละลายได้แก่ศาลล้มละลายกลาง
           ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกฎหมายล้มละลายที่ใช้อยู่คือพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าวนั้น ไทยได้นำการวางหลักกฎหมายส่วนใหญ่มาจากกฎหมายล้มละลายของประเทศสหรัฐอเมริกา
            การบังคับใช้กฎหมายล้มละลาย จะต่างจากการบังคับใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจากกฎหมายล้มละลายเป็นเพียงการบังคับใช้เพื่อให้เจ้าหนี้ได้มีหลักประกันว่าจะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้อย่างแน่นอนและเท่าเทียมกัน (pari passu) และมีลักษณะที่เปิดช่องให้มีการเจรจา ประนีประนอมกันมากกว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งมุ่งระงับข้อพิพาททางแพ่งที่มีการโต้แย้งสิทธิกันเพื่อให้เจ้าหนี้ชนะคดีและบังคับเอาจากลูกหนี้เพียงอย่างเดียว
พระราชบัญญัติล้มละลายไม่ได้จำกัดไว้ว่าผู้ที่ล้มละลายจะต้องเป็นบุคคลประเภทใด ดังนั้น ไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประเภทใดก็สามารถล้มละลายได้ ต่างจากการฟื้นฟูกิจการที่จะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบรัษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น โดยกฎหมายกำหนดวิธีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายไว้ 5 วิธี ดังนี้
1. เจ้าหนี้ธรรมดาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย 2. เจ้าหนี้มีประกันฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย 
3. เจ้าหนี้ฟ้องขอให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ตาย 
4. ผู้ชำระบัญชีร้องขอให้นิติบุคคลล้มละลาย
5. เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างหุ้นส่วนสามัญ 
อย่างไรก็ตาม กฎหมายล้มละลายของไทยไม่อนุญาตให้ลูกหนี้ร้องขอให้ตัวเองล้มละลายได้ แต่ลูกหนี้สามารถร้องขอให้ตัวเองฟื้นฟูกิจการได้
การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายโดยเจ้าหนี้
เจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย ได้แก่ เจ้าหนี้มีประกัน และเจ้าหนี้ไม่มีประกัน ซึ่งทั้งสองมีหลักเกณฑ์ในการฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายและการขอรับชำระหนี้แตกต่างกัน นิยามของคำว่า "เจ้าหนี้มีประกันมีบัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายล้มละลาย ว่าหมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ
การที่เจ้าหนี้จะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายในศาลไทย ลูกหนี้จะต้องมีภูมิลำเนาหรือประกอบธุรกิจในประเทศไทยหรือเคยมีภูมิลำเนาหรือประกอบธุรกิจในประเทศไทยย้อนหลังไป 1 ปีและจะต้องพิจารณาก่อนว่าเจ้าหนี้ที่มาฟ้องเป็นเจ้าหนี้ธรรมดาหรือเจ้าหนี้มีประกัน
การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายโดยเจ้าหนี้ธรรมดา
การที่เจ้าหนี้ธรรมดาจะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลาย จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า
1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว กล่าวคือ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
2. เป็นหนี้ไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดา หรือสองล้านบาทหากเป็นนิติบุคคล และ
3. หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน
ทั้งนี้ แม้ว่าหนี้ดังกล่าวจะยังไม่ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ก็สามารถนำมาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายได้
การฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายโดยเจ้าหนี้มีประกัน
ส่วนเจ้าหนี้มีประกัน เช่น เจ้าหนี้จำนอง นอกจากจะต้องพิสูจน์ตามหลักเกณฑ์ของเจ้าหนี้ธรรดมาแล้ว ยังมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีกว่า เจ้าหนี้นั้นไม่ได้เป็นผู้ต้องห้ามไม่ให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน (กล่าวคือ หากเป็นเจ้าหนี้จำนอง จะต้องมีข้อสัญญาให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้ได้ ไม่จำกัดเฉพาะทรัพย์สินที่จำนอง) และต้องบรรยายฟ้องว่า "ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย" หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่อีกไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาทหรือสองล้านบาท แล้วแต่กรณี
การพิจารณาพิพากษาคดีล้มละลาย
เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ศาลจะมีหมายเรียกกำหนดวันนัดพิจารณา แต่ลูกหนี้จะยื่นหรือไม่ยื่นคำให้การก็ได้ ในการพิจารณา ศาลจะต้องพิจารณาให้ครบหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ลูกหนี้จะล้มละลายแล้วจึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด (ลูกหนี้แพ้คดี) แต่หากศาลพิจารณาแล้วไม่ได้ความจริงตามเงื่อนไขที่จะต้องล้มละลาย หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลจะยกฟ้อง (ลูกหนี้ชนะคดี)
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและการขอรับชำระหนี้
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว ศาลจะแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะโฆษณาคำสั่งดังกล่าวในหนังสือพิมพ์และราชกิจจานุเบกษา ส่วนลูกหนี้จะถูกจำกัดสิทธิในการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตน โดยจะมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน แต่ลูกหนี้ยังสามารถดำเนินการอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตนได้อยู่ เมื่อโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในสองเดือน แต่หากเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่ต่างประเทศก็สามารถขอขยายเวลานั้นเพิ่มได้อีกสองเดือน (รวมเป็นสี่เดือน) เพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้และแบ่งให้เจ้าหนี้อย่างเท่าเทียมกัน (pari passu) หากเจ้าหนี้คนใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็หมดสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้อีก แต่ไม่หมดสิทธิเรียกร้องจากผู้ค้ำประกันหรือลูกหนี้ร่วมของลูกหนี้ ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีสิทธิขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย โดยขอชำระหนี้บางส่วน หรือขอชำระหนี้เป็นอย่างอื่น ถ้าการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายสำเร็จก็ไม่ต้องเป็นบุคคลล้มละลาย แต่หากประนอมหนี้ไม่สำเร็จ หรือไม่มีการขอประนอมหนี้ ลูกหนี้ก็จะถูกพิพากษาให้ล้มละลายต่อไป
การจบคดีล้มละลาย
กฎหมายล้มละลายของไทย กำหนดช่องทางการจบคดีล้มละลายไว้สามช่องทาง คือการประนอมหนี้หลังล้มละลาย การปลดล้มละลาย และการยกเลิกการล้มละลาย
การประนอมหนี้หลังล้มละลาย
เมื่อลูกหนี้ล้มละลายแล้วลูกหนี้สามารถขอประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้ เมื่อการประนอมหนี้สำเร็จ เจ้าหนี้ทั้งหลายก็จะผูกพันได้รับชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ ยกเว้นเจ้าหนี้ภาษีอากรและเจ้าหนี้ในหนี้ที่เกิดจากการทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้ หากไม่ได้ให้ความยินยอมไว้เป็นหนังสือก็จะไม่ผูกพันด้วยและคงได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
การประนอมหนี้ไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหรือหุ้นส่วน หรือลูกหนี้ร่วมของลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ไปด้วย เจ้าหนี้ยังเรียกร้องจากผู้ค้ำประกัน หุ้นส่วน ลูกหนี้ร่วมของลูกหนี้ได้อยู่จนครบ
การปลดจากล้มละลาย
การปลดจากล้มละลาย อาจเป็นไปโดยคำสั่งศาล หรือโดยผลของกฎหมาย โดยหากมีการแบ่งทรัพย์ให้เจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และไม่เป็นบุคคลล้มละลายโดยทุจริต ผู้ล้มละลายก็อาจขอให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ หรือหากลูกหนี้ที่เป็นบุคคลธรรมดาล้มละลายมาแล้วครบสามปี ก็จะปลดจากล้มละลายโดยผลของกฎหมาย
เมื่อปลดจากล้มละลายแล้ว จะมีผลให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นการล้มละลาย มีอำนาจจัดการทรัพย์สินที่ได้มาหลังจากการปลดล้มละลายและหลุดพ้นจากหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ได้ทั้งปวง ยกเว้นหนี้ภาษีอากรและหนี้ที่เกิดจากการทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้คงยังได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน
การปลดจากล้มละลายไม่ทำให้ผู้ค้ำประกันหรือหุ้นส่วน หรือลูกหนี้ร่วมของลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ไปด้วย เจ้าหนี้ยังเรียกร้องจากผู้ค้ำประกัน หุ้นส่วน ลูกหนี้ร่วมของลูกหนี้ได้อยู่จนครบ
การยกเลิกการล้มละลาย
เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ผู้มีส่วนได้เสียหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอต่อศาลให้ยกเลิกการล้มละลายได้
(1) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจดำเนินการให้ได้ผลเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ไม่ช่วยหรือยอมเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายหรือวางเงินประกันตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง และไม่มีเจ้าหนี้อื่นสามารถและเต็มใจกระทำการดังกล่าวแล้ว ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ขัดขืนหรือละเลยนั้น
(2) ลูกหนี้ไม่ควรถูกพิพากษาให้ล้มละลาย
(3) หนี้สินของบุคคลล้มละลายได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
ถ้าลูกหนี้ปฏิเสธหนี้สินรายใด แต่ลูกหนี้ยอมทำสัญญาและให้ประกันต่อศาลว่าจะใช้เงินให้เต็มจำนวนกับค่าธรรมเนียมด้วยก็ดี หรือถ้าหาตัวเจ้าหนี้ไม่พบ แต่ลูกหนี้ได้นำเงินเต็มจำนวนมาวางต่อศาลก็ดี ให้ถือว่าหนี้สินรายนั้นได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว
(4) เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แบ่งทรัพย์ครั้งที่สุด หรือไม่มีทรัพย์สินจะแบ่งให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ต่อแต่นั้นมาภายในกำหนดเวลาสิบปี เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายได้อีก และไม่มีเจ้าหนี้มาขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จัดการรวบรวมทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายโดยการยกเลิกการล้มละลายตาม (1) หรือ (2) นั้นไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สิน ส่วนการยกเลิกการล้มละลายตาม (3) หรือ (4) ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้สินทั้งหมด รวมถึงหนี้ภาษีอากรและหนี้จากความทุจริตฉ้อโกงด้วย